วันอาทิตย์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2552

การประมาณราคา ค่าก่อสร้าง ภาค Q.S.

ในการทำงานก่อสร้าง ผมว่า สิ่งที่เจ้าของงาน, ผู้รับเหมา ตลอดจนผู้ออกแบบ มีความกังวลอย่างเดียวคือ เรื่องราคาค่าก่อสร้าง ว่าการก่อสร้าง โครงการของเขานั้นจะเป็นราคาเท่าไร เพียงแต่เป็นการกังวล ที่มองคนละมุมกันเท่านั้น

เจ้าของงานอาจเป็นกังวล ในแง่ของงบประมาณ ที่ต้องใช้จ่าย หรือการลงทุน

ผู้รับเหมา อาจกังวลในแง่ของ ต้นทุนในการก่อสร้าง และกำไร-ขาดทุน

ผู้ออกแบบ อาจกังวลใน เรื่องความเป็นไปได้ของโครงการว่า จะได้เกิด หรือไม่ โดนตัดทอนอย่างไร

สิ่งที่สามารถ ตอบกับทุกฝ่ายได้อย่างดีที่สุด คือ การประมาณราคา ครับ
ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นการประมาณราคา มันก็คือราคาที่ประมาณขึ้นมา โดยคร่าวๆ ไม่ได้เป็นราคาที่ถูกต้อง 100% มันต้องมีผิดพลาดบ้าง แต่การประมาณราคานั้นถ้าทำโดยผู้เชี่ยวชาญ ก็จะมีความแม่นยำมาก เดี๋ยวผมจะค่อยๆเล่าให้ฟัง

สมัยก่อนอาจารย์ สอนวิชาประมาณราคาของผมบอกว่า "การประมาณราคา ทำสิบคนก็ไม่มีทางได้ราคาเท่ากัน แม้แต่ตัวเองทำเองแต่ทำคนละที ก็ยังไม่เ่ท่ากันเลย" ดังนั้น การประมาณราคา จึงไม่ตัวเลขที่ถูกต้องอย่างเป๊ะๆ พอผมมาทำงานมันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ ครับสำหรับประเทศไทย เพราะมีหลายมาตาฐาน หลายอาจารย์ เหลือเกิน เลยทำให้แต่ละคนมีวิธีประมาณราคาไม่เหมือนกัน แต่คำพูดนี้มันไม่แน่เสมอไปนะครับ เพราะที่จริงแล้ว การประมาณราคาก็มี วิธีมาตราฐานของมันอยู่ เช่นในประเทศอังกฤษ มีมาตราฐานการประมาณราคาที่ค่อนข้าง สมบูรณ์แบบ และจำเป็นต้องมีนักประมาณราคาที่มีใบอนุญาติ มาทำงานในเกือบทุกโครงการ เรียกว่าการทำ Q.S. หรือ Quantity Survey (ภาษาไทยเรียกว่า "สำรวจปริมาณ") โดยมี Surveyor เป็นคนที่จำเป็นต้องมีส่วนร่วม (มีเอี่ยว)ในเกือบทุกโครงการก่อสร้าง เหมือนกับ โครงการจำเป็นต้องมี วิศวกร กับสถาปนิก เลยทีเดียว

การทำระบบ Q.S. ในประเทศไทย ก็มีมานาน แต่อาจเป็นการใช้ ระบบนี้ในวงจำกัด เท่าที่ผมทราบมี ฝรั่งอาวุโสชาวอังกฤษ ท่านนึงชื่อ Mr. Blaise McConnell เป็น Q.S. มืออาชีพชาวอังกฤษ ได้เข้ามาเปิดบริษัทในประเทศไทยได้ กว่า 30 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นคนแรกๆที่นำระบบนี้เข้ามาใช้กับโครงการก่อสร้างในประเทศไทย และท่านก็เป็นที่ยอมรับ และรู้จักของเกือบทุกคนที่ทำงานด้าน Q.S. ในประเทศไทย (ปัจจุบันท่านเสียชีวิต แล้วจากอุบัติเหตุรถยนต์ เมื่อหลายปีก่อน) ผมมีโอกาสได้เป็นลูกน้องของ Mr. Blase มาประมาณ 4-5 ปี อยู่ในตำแหน่ง Q.S. ได้เรียนรู้ระบบ Q.S. นี้มาพอสมควร โดยที่ไม่ได้ไปเรียนที่ ประเทศอังกฤษ แต่ได้มีโอกาสที่เรียนจากการทำงานจริงจากคนที่ ฝรั่งด้วยกันยังยอมรับว่าเป็น "เดอะคิง" ผมเลยพอที่จะโม้ให้ฟังเรื่องประมาณราคาได้ครับ

ต่อมาภายหลังในประเทศไทย ก็เริ่มมี นักประมาณราคาในสายประเมินทรัพย์สิน เช่นนักประเมินทรัพย์สินของธนาคาร รวมกลุ่มกันเปิดสมาคม และพยายามที่จะสร้างมาตราฐานในการประมาณราคาขึ้นมาเหมือนกัน เปิดโรงเรียนสอน แต่จริงๆ แล้วก็ยังห่างไกลกับระบบ Q.S. ที่ว่าพอสมควร (อันนี้ฝรั่งที่เป็น Q.S. เป็นคนบอกนะ ไม่ใช่ผมพูดเอง) ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีครับ ถ้าสมาคมนี้สามารถพลักดันให้ เกิดกฏหมายบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับการประมาณราคาได้ ประเทศไทยจะได้มีมาตราฐาน เรื่องราคาค่าก่อสร้างจริงๆสักที

ดูความหมายของ Quantity surveyor จาก Wikipedia ได้ที่ http://en.wikipedia.org/wiki/Quantity_surveyor

เรื่องยังมีต่อนะ

วันศุกร์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2552

วิธีการเลือกแบบบ้าน

"แบบบ้าน" เป็น คำที่เรียกได้ว่ามีคำค้นหาใน google มากที่สุดในหมวดอสังหาริมทรัพย์ อาจเป็นเพราะว่า คนที่กำลังจะปลูกบ้านส่วนใหญ่ก็จะค้นหาในอินเตอร์เน็ท หาแบบบ้านเพื่อเป็นแนวทางในการออกแบบบ้านใหม่ หรือไม่ก็ต้องการเลือกแบบบ้านฟรีๆ ที่อยู่ในอินเตอร์เน็ท มาใช้กับบ้านตัวเอง ดังนั้นผมจึงอยากที่จะเขียนบทความนี้ขึ้นเพื่อเป็นแนวทางที่จะช่วยให้ คนที่กำลังหาแบบบ้าน สามารถ เลือกแบบบ้านได้อย่างเหมาะสมกับความต้องการของตัวเอง และเลือกแบบบ้านได้อย่างเหมาะสมมากขึ้นครับ

แบบบ้านที่อยู่ในเนท มีมากมายเลยครับ ไม่ว่าจะเป็นเว็ปนอก เว็บไทย เพียงแค่ พิมพ์คำว่า home plan, home design ใน google ก็จะมีเว็บให้เลือกดูจนตาลายเลยครับ แต่การที่จะหาแบบที่ถูกใจ หรือสงสัยว่าแบบนี้เหมาะสมกับเราหรือเปล่าคงต้องดูในรายละเอียดกันหน่อยครับ



  1. แบบนี้ลงกับที่ดินเราได้หรือเปล่า คือผมอยากให้ข้อควรจำเกี่ยวกับ พรบ.ควบคุมอาคารไว้หน่อยว่า ระยะร่นของอาคาร ถึงเขตแนวที่ดินควรต้องมีพื้นที่ อย่างน้อย 2.00 เมตรครับถึงจะไม่ผิดกฏหมาย อันที่จริงแล้ว กฏหมายยังมีข้อกำหนดย่อยๆ อีกเยอะ แต่เอาไว้ดูแค่ข้อเดียวก่อนครับว่า 2.oo เมตรรอบตัวต้องเว้นว่างไว้ ดังนั้นเราต้องดูความกว้างยาวของตัวบ้านที่เราเลือกทั้ง 2 ด้านครับ ว่ามีความยาวเท่าไร แล้วบวกไป 4.00 เมตร(ข้างละ 2.00เมตร สองด้าน) แล้วเอาไปเทียบกับ ขนาดที่ดินเรา ว่าความกว้างยาวมนลงได้หรือเปล่า ถ้าลงไม่ได้ก็ต้องปรับแก้ หรือไม่ก็มองหาแบบอื่น

  2. ฟังชั่นการใช้งาน อันนี้คงไม่ต้องบอกครับว่า คงเป็นเรื่องแรกๆที่หลายๆท่านดูอยู่แล้ว ว่ามีห้อง มีพื้นที่ของบ้านตามที่เราต้องการหรือเปล่า มีห้องนอนกี่ห้อง, มีห้องครัวอยู่ตรงไหน, ห้องกินข้าวใหญ่พอรึเปล่า, ห้องน้ำพอรึเปล่า, ห้องพระมีมั๊ย

  3. ทิศทางลม และแดด ของบ้าน อันนี้ยากหน่อยครับที่จะหาแบบได้เหมาะสมกับที่ดินของเรา และค่อนข้างยากที่จะใช้วิธีหาแบบบ้านในอินเตอร์เน็ท แล้วจะเจอแบบบ้านที่เหมาสมกับทิศของที่ดินเรา แม้แต่การออกแบบบ้านใหม่ ก็ต้องอาศัยสถาปนิกที่มีประสบการณ์ระดับนึงในการออกแบบบ้านครับ เอาเป็นว่าผมจะอธิบายเป็นแนวทางไว้ละกันครับว่า ทิศทางของบ้านที่เหมาะสมควรเป็นอย่างไร เราควรเลือกแบบบ้านที่เหมาะสมกับที่ดินได้ยังไง อันดับแรกเราควรดูทิศของที่ดินเราก่อนครับว่า ทิศของที่ดินเราหันหน้าไปทางทิศไหน แล้วจำเอาไว้ว่า แดดมันขึ้นทางตะวันออก อ้อมทิศใต้และไปตกทางทิศตะวันตก และลมฤดูร้อนมักจะพัดจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ พัดขึ้นไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ดังนั้นทิศทางของบ้านที่ดี ทิศของบ้านต้องหันให้เหมาะกับทิศของที่ดินครับ เช่น ด้านทิศตะวันตกของบ้านจะเป็นทิศที่แดดร้อนมาก แดดส่องตลอดเวลา ควรเป็น ห้องที่ไม่ได้ใช้สอยหรือไม่ได้อยู่ตรงนั้นประจำ เช่น ห้องเก็บของ, ห้องแต่งตัว, ห้องน้ำ และห้องที่ใช้บ่อยๆ เช่น ห้องโถง, ห้องรับแขก, ห้องนอน ควรต้องอยู่ในทิศที่รับลม และมีช่องทางที่จะมีลมพัดเข้าและพัดออกได้อย่างเหมาะสมตามทิศทางของลม และต้องอย่าลืมครับว่า ลมจะพัดเข้ามาได้ ต้องมีทางออกของลมนะครับ ไม่ใช่่ามีช่องหน้าต่างไว้ทิศที่จะรับลม แล้วไม่มีทางออก อย่างนี้เปิดช่องไปให้ตายลมก็ไม่พัดเข้ามาครับ
  4. ฮวงจุ๊ย เรื่องฮวงจุ๊ยเป็นศาตร์เลยครับ มีหลายตำรามาก เข้าใจยากพอสมควร แต่ถ้าศึกษาดีๆ ฮวงจุ๊ยก็มีประโยชน์ ในการอยู่อาศัยมากครับ ลองศึกษาเรื่องฮวงจุ๊ยดูในรายละเอียดก็จะรู้ว่า ฮวงจุ๊ยไม่ใช่เรื่องไร้สาระ ขึ้นอยู่กับว่าเจ้าของบ้านจะให้ความสำคัญกับฮวงจุ๊ยขนาดไหน และจะนำมาใช้รึเปล่า แต่ถ้าจะให้ถูกต้อง และมั่นใจ คงต้องอาศัยผู้ชำนาญ หรือหมอดูฮวงจุ๊ย มาดูให้ครับถึงจะแน่นอน ในที่นี้ผมจะบอกคำแนะนำบางข้อ ของการเลือกแบบบ้านให้ถูกหลักฮวงจุ๊ยไว้
  • นอนขวางบ้าน จะทำให้ครอบครัวและบ้านมีความสุขปลอดภัย
  • ห้องพระควรอยู่หน้าบ้าน หันหัวไปทางทิศตะวันออก เพื่อความเป็นมงคล
  • ชักโครกวางขวางบ้านทำให้มีแต่เรื่องดีๆโดยเฉพาะห้องส้วมชั้นล่าง
  • บันไดขึ้นจากหลังมาหน้าทำให้เงินทองไม่รั้วไหล
  • พื้นที่ห้องครัวต่ำกว่าตัวบ้านทำให้มีกินมีใช้

วันพุธที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ทำไมต้องเป็นเสาเข็มเจาะ


บทความนี้เป็นบทความที่ผมคัดลอกมาจากบทความที่ผมเขียนในเว็บของบริษัท ที่
http://borepile.com/
เ็ห็นว่าเกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง เลยหวังว่าคงเป็นประโยชน์ กับท่านผู้อ่านไม่มากก็น้อยนะครับ


คำถามที่ถามกันบ่อยๆว่า เสาเข็มเจาะมันเป็นยังไง และทำไมตองเป็นเสาเข็มเจาะ ถามกันเข้ามาบ่อยมาก จนผมแทบอยากจะตั้งระบบตอบรับแบบออโต้ให้คนที่โทรเข้ามาถามได้เข้าใจกัน
ที่พูดแบบนี้ไม่ใช่ว่าจะ เบื่อหรือไม่อยากตอบนะครับ แต่อาจเป็นเพราะ ผมไไม่แน่ใจว่าการตอบของผมสามารถอธิบายได้ดีทุกครั้งเท่าการเขียน หรือเปล่าเท่านั้น แถมยังรู้สึกดีใจอีกต่างหากที่ มีคนสนใจที่จะทำเข็มเจาะ แล้วถามเข้ามาที่เรา
ผมจะลองเรียบเรียงคำตอบดูนะครับ

ถาม.. เสาเข็มเจาะคืออะไร?
ตอบ..เสาเข็มเจาะเป็นเสาเข็มชนิดหนึ่ง ทำหน้าที่เหมือนเสาเข็มที่พบกันโดยทั่วไป แบบที่ใช้ปั้นจั่นตอกนั่นแหละครับ แต่ลักษณะการทำงานจะไม่เหมือนกัน แสาเข็มเจาะจะไม่ใช้การตอกเข็มลงไปในดินโดยตรง แต่จะใช้การ ตอกปลอกเหล็ก ที่ป็นแบบหล่อคอนกรีตลงไปในดิน แล้วใส่เหล็กเทคอนกรีตลงไปในหลุม แทน

ถาม..แล้วทำไมต้องเป็นเสาเข็มเจาะด้วย
ตอบ..เสาเข็มเจาะมีข้อดี และข้อเสียกว่าเสาเข็มตอกที่ไม่เหมือนกันคือ เสาเข็มเจาะสามารถทำงานในที่คับแคบได้ ไม่รบกวนเพื่อนบ้าน ไม่ส่งผลกระทบกับโครงสร้างหรืออาคารข้างเคียง เพราะแรงสั่นสะเทือนน้อย สามารถใช้กับงานต่อเติมได้ แต่ข้อเสียก็มีคือ ราคาค่าเสาเข็มเจาะจะแพงกว่า เสาเข็มตอก พอสมควร และจำเป็นต้องควบคุมคุณภาพในการทำงานมากกว่าเสาเข็มตอกครับ

ถาม..แล้วบ้านผมควรจะเป็นเสาเข็มเจาะหรือตอกดี
ตอบ..ก็แล้วแต่สภาพหน้างานของบ้านคุณครับ เช่นว่าถ้าสถานที่ก่อสร้างคุณเป็นที่ดินเปล่าโล่งๆ ไม่มีสิ่งก่อสร้างใกล้เคียงรอบด้าน ไม่กลัวว่าการตอกเข็มที่กระเทือนเหมือนแผ่นดินไหว จะไปทำให้อะไร รอบข้างพัง หรือแตกร้าว ก็เหมาะที่จะทำเสาเข็มตอก แต่ถ้าไม่ก็แนะนำเสาเข็มเจาะครับ

ถาม..แล้วเสาเข็มเจาะรับน้ำหนักได้เหมือนกันกับเสาเข็มตอกหรือเปล่า
ตอบ.. การรับน้ำหนักของเสาเข็มเจาะ สามารถรับน้ำหนักได้เหมือนกับเสาเข็มตอกทุกประการครับบางทีอาจจะมากกว่าเสา เข็มตอกด้วยซึ้าครับ เพียงแต่ว่าการรับน้ำหนักของเสาเข็ม จำเป็นจะต้องให้วิศวกรเป็นคนคำนวนหา น้ำหนักของอาคารที่จะถ่ายลงไปเสาเข็ม และวิศวกรจะเป็นคนเลือกชนิด หรือขนาดของเสาเข็มที่จะใช้ให้ครับ? แต่ถ้านำ เสาเข็มเจาะไปเทียบกับเสาเข็มตอกในเรื่องการรับน้ำหนัก ก็ต้องมาดูถึงคุณภาพของการทำเสาเข็มเจาะครับ เพราะเสาเข็มเจาะมีขั้นตอนยุ่งยากในการทำงานมากกว่า จำเป็นต้องควบคุมคุณภาพในการทำงานเกือบทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชั้นดิน, การใส่เหล็กเสริม, คุณภาพคอนกรีต, การถอดปลอกเหล็ก ฯลฯ ซึ่งถ้าผู้ทำงานไม่มีความชำนาญ หรือมีความรับผิดชอบไม่พอ ก็สามารถทำให้เสาเข็มเสียหายโดยเจ้าของงานไม่รู้ได้เหมือนกัน