วันพุธที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2553

มาดูฝรั่งรื้อถอนอาคารกันครับ

มาดูฝรั่งรื้อถอนอาคารกันครับ

อันนี้แบบค่อยเป็นค่อยไป


อันนี้แบบตูมเดียว แต่ไม่สำเร็จ ค้างอยู่อย่างนั้น


อันนี้แบบสำเร็จอย่างงดงาม ตูมเดียวราบ

วันพุธที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2552

พิธีการตั้งเสาเอก

เวลาเริ่มการก่อสร้างสำหรับบ้าน หรืออาคาร บางหลัง พิธีการต่างๆตามความเชื่อ มีความสำคัญมากเลยทีเดียว มีหลายแบบ หลายพิธีมาก
มีทั้ง พิธีลงเข็ม(เข็มเอก), วางศิลาฤกษ์, ตั้งเสาเอก, ไหว้บอกกล่าวเจ้าที่, ไหว้เทวดา, ไหว้ครูแม่บันได(อันนี้เคยเห็น ช่างจากบุรีรัมย์ ขอให้เจ้ของบ้านทำพิธีเพื่อที่จะทำบันไดได้อย่างราบรื่น และเหมือนกับเป็นการบอกกล่าวแม่บันได ตามความเชื่อของเขา), ฯลฯ ส่วนพิธีการก็มีหลายแบบหลายวิธี มากทั้ง โยนเหรีญ ทอดแห ตั้งประลำพิธีบ้าง ตั้งโต๊ะไหว้เฉยๆบ้าง เคยครั้งนึงเจ้าของบ้านไป เชิญ พราหมหลวง คนที่ทำพิธีแรกนาขวัญ กับโล้ชิงช้า มาทำพิธีตั้งเสาเอกให้บ้านของเขา ขอบอกว่าอลังการมาก มีทั้ง บัณเฑาะห์ สังห์มาเป่า แต่ค่าใช้จ่ายของท่านพราหมไม่ได้แพงอะไรเลยครับ ใครสนใจก็ลองติดต่อดูที่ โบสถ์พราหม ข้างๆเสาชิงช้าดูครับ ที่นั่นเขาให้คำแนะนำได้ดีมาก

ส่วนที่เก็บมาฝากวันนี้จะมี รายละเอียดเรื่องตั้งเสาเอก และก็วิธีวาง ศิลาฤกษ์

พิธีตั้งเสาเอก
ปลูกเรือนตามเดือน เดือนดีคือ 6,9,12,1,2,4(เดือนไทย)
ปลูกเรือนตามวัน จันทร์,พุธ,พฤหัสบดี เป็นวันดี

จากมหาหมอดู
เป็นข้อยกเว้นที่ห้ามใช้ฤกษ์สำหรับคนเกิดวันต่างๆ ถึงจะมีในรายการฤกษ์ข้างบนก็ห้ามใช้เด็ดขาด เพราะเป็นวันศัตรูและกาลกิณีกับวันเกิด
1. ผู้เกิดวันอาทิตย์ ห้ามใช้ฤกษ์ที่เป็นวันศุกร์และวันอังคาร
2. ผู้เกิดวันจันทร์ ห้ามใช้ฤกษ์ที่เป็นวันอาทิตย์และวันพฤหัสบดี
3. ผู้เกิดวันอังคาร ห้ามใช้ฤกษ์ที่เป็นวันจันทร์และวันอาทิตย์
4. ผู้เกิดวันพุธ (กลางวัน) ห้ามใช้ฤกษ์ที่เป็นวันพุธ (กลางคืน)
5. ผู้เกิดวันพฤหัสบดี ห้ามใช้ฤกษ์ที่เป็นวันเสาร์
6. ผู้เกิดวันศุกร์ ห้ามใช้ฤกษ์ที่เป็นวันพุธ (กลางคืน) และวันเสาร์
7. ผู้เกิดวันเสาร์ ห้ามใช้ฤกษ์ที่เป็นวันพุธ (กลางวัน) และวันศุกร์
8. ผู้เกิดวันพุธ (กลางคืน) ห้ามใช้ฤกษ์ที่เป็นวันพฤหัสบดีและวันพุธกลางวัน

ของใช้ในพิธี
  • จัดโต๊ะหมู่บูชา ๑ ชุด พร้อมเครื่องสักการะ (ถ้าประสงค์)
  • จตุปัจจัยไทยธรรมถวายพระ ๑ ชุด (กรณีนิมนต์พระมาประพรมน้ำมนต์ที่หลุม และเจริญชัยมงคลคาถา)
  • เครื่องบูชาฤกษ์หรือสังเวยเทวดา (จัดย่อส่วนก็ได้ ดูพิธีวางศิลาฤกษ์)
  • ใบทอง นาก เงิน อย่างละ ๓ ใบ
  • เหรียญทอง เงิน อย่างละ ๙ เหรียญ
  • ทรายเสก ๑ ขัน
  • น้ำมนต์ ๑ ขัน (พร้อมกำหญ้าคา ๑ กำ)
  • ด้ายสายสิญจน์ ๑ ม้วนเล็ก
  • ทองคำเปลว ๓ แผ่น
  • ผ้าแพรสีแดง ห่มเสา หรือผ้าขาวม้า ๑ ผืน
  • หน่อกล้วย อ้อย อย่างละ ๑ หน่อ
  • ไม้มงคล ๙ ชนิด (ถ้าประสงค์)
  • แผ่นทอง นาก เงิน อย่างละ ๑ แผ่น
  • ข้าวตอกดอกไม้ ๑ ขัน

ลำดับพิธี
  • วางสายสิญจน์ เริ่มจากโต๊ะบูชาไปโต๊ะสังเวยขวาบริเวณสถานที่ก่อสร้างเข้าสู่เสาเอก (ก่อนเวลาฤกษ์พอสมควร)
  • เจ้าภาพจุดเทียนธูปที่โต๊ะหมู่บูชา อธิษฐานเพื่อเกิดสิริมงคล กราบพระ
  • จุดเทียนธูปที่โต๊ะสังเวย บูชาเทวดาให้คุ้มครอง
  • พิธีกรกล่าวสังเวยเทวดา
  • เจ้าภาพตอกไม้มงคล ๙ ชนิด (ถ้ามี)
  • วางแผ่นทอง นาก เงินในหลุมเสาเอก (ถ้ามี)
  • นำใบทอง นาก เงิน และเหรียญทอง เงิน ลงก้นหลุมแล้วนิมนต์พระสงฆ์ประพรมน้ำมนต์
  • โปรยทรายเสกที่หลุมเสา
  • เจิมและปิดทองเสาเอก
  • ผูกหน่อกล้วย อ้อย และผ้าสีแดงหรือผ้าขาวม้าที่เสาเอก
  • ถือด้ายสายสิญจน์ พร้อมทั้งญาติมิตรผู้ร่วมพิธี
  • ช่าง ช่วยกันยกเสาเอก จนตั้งเรียบร้อย (ขณะยกเสานั้นพระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา) (ถ้ามี)
  • เจ้าภาพโปรยข้าวตอกดอกไม้ลงหลุมเสาเอก พร้อมทั้งญาติมิตรผู้ร่วมพิธี เสร็จพิธี

หมายเหตุ
  • ถ้ายกเสาเอกในเดือนอ้าย ยี่ สาม เสาเอก อยู่ทิศอีสาน
  • ถ้ายกเสาเอกในเดือน ๔ - ๕ - ๖ เสาเอก อยู่ทิศอาคเนย์
  • ถ้ายกเสาเอกในเดือน ๗ - ๘ - ๙ เสาเอก อยู่ทิศหรดี
  • ถ้ายกเสาเอกในเดือน ๑๐ - ๑๑ - ๑๒ เสาเอก อยู่ทิศพายัพ
  • เมื่อธูปที่โต๊ะสังเวยไหม้หมดดอก ให้ลาเครื่องสังเวยได้ว่า "เสสัง มังคะลัง ยาจามิ"
  • หน่อกล้วย อ้อย เมื่อช่างเอาลงจากเสาแล้ว ให้นำไปปลูกไว้ในที่ต้องการ เพื่อเสี่ยงทายว่าจะงอกงามเพียงใด
  • ถ้าจัดโต๊ะสังเวยไม่ได้ จะจัดเป็นสำรับบูชาพระภูมิเจ้าที่ธรรมดาก็ได้ และสิ่งประกอบอื่น ๆ
  • ก็เลือกเอาเท่าที่จำเป็นและหาได้ง่าย
  • ไม้มงคล 9ชนิด ซื้อได้ตามร้านสังฆภัณฑ์ หรือแถวๆเสาชิงช้า

ไม้มงคลที่ใช้ในพิธีวางศิลาฤกษ์
ใน การก่อสร้างอาคารบ้านเรือน ก่อนทำการก่อสร้างนิยมทำพิธีวางศิลาฤกษ์โดยใช้ไม้มงคล 9 ชนิด ปักกับพื้นดินไม้ทั้ง 9 ชนิดมีชื่อเป็นมงคลนาม ดังนี้
1. ไม้ราชพฤกษ์ หมายถึง ความเป็นใหญ่และมีอำนาจวาสนา
2. ไม้ขนุน หมายถึง หนุนให้ดีขึ้นร่ำรวยขึ้น ทำอะไรจะมีผู้ให้การเกื้อหนุน
3. ไม้ชัยพฤกษ์ หมายถึง การมีโชคชัย ชัยชนะ
4. ไม้ทองหลาง หมายถึง การมีเงินมีทอง
5. ไม้ไผ่สีสุก หมายถึง มีความสุข
6. ไม้ทรงบาดาล หมายถึง ความมั่นคง หรือทำให้บ้านมั่นคงแข็งแรง
7. ไม้สัก หมายถึง ความมีศักดิ์ศรี ความมีเกียรติ
8. ไม้พะยูง หมายถึง การพยุงฐานะให้ดีขึ้น
9. ไม้กันเกรา หมายถึง ป้องกันภัยอันตรายต่าง ๆ หรืออีกชื่อหนึ่งว่าตำเสา ซึ่งอาจหมายถึง ทำให้เสาเรือนมั่นคง
ไม้ มงคลเหล่านี้จะลงอักขระที่เรียกว่า หัวใจพระอิติปิโส ได้แก่ อะ สัง วิ สุ โล ปุ สะ พุ ภะ ลงบนท่อนไม้ชนิดละอักขระ พร้อมทั้งปิดทองทั้ง 9 ท่อน โดยปักวนจากซ้ายไปขวา (ทักษิณาวรรต)
ปีที่ปลูกเรือนเสริมสิริมงคล

ปลูกเรือนปีชวด
ยกเสาเอก จงเอาไม้ราชพฤกษ์ปักเสามุมแรก ก่อนยกเสาเอกเพื่อเอาฤกษ์เอาชัย และโปรยดอกไม้ 3 สี สีที่เป็นสิริมงคล ดอกกุหลาบ ดอกรัก ดอกพุทธ และบวงสรวงด้วย กล้วยที่เป็นมิ่งขวัญปีเกิด จะทำให้ อยู่เย็นเป็นสุข ทำมาหากินเจริญขึ้นนักแล

ปลูกเรือนปีฉลู
ยกเสาเอกจงเอากล้วยและผ้าขาว พันเสาเอก เอากิ่งมะตูม 3 กิ่ง ปักที่เสาเอก และบวงสรวงด้วยลูกตาล ขนมฝอยทอง จะทำให้มีแต่สิ่งดี ๆ เข้าบ้านและมีความสุขความเจริญ

ปลุกเรือนปีขาล
ยกเสาเอกจงเอาข้าวสุก 3 กระทง และน้ำ 3 ขัน ขันเงิน ขันทอง ขันนาก รดที่ต้นเสาก่อนแล้วโปรย ดอกไม้ 3 ชนิด ดอกดาวเรือง ดอกรัก ดอกบานไม่รู้โรย เพื่อเป็นเคล็ดให้ร่ำรวย อยู่เย็นเป็นสุข

ปลูกเรือนปีเถาะ

ยกเสาเอก จงเอาใบตะเคียน ใบเฉียง ใบพร้าหอม ต้นกล้วย 1 ต้นห่อปลายเสา แล้วบวงสรวงด้วย หมูย่าง ปลายำ จะทำให้รุ่งเรืองนักแล

ปลูกเรือนปีมะโรง
ยกเสาเอก จงเอาใบมะกรูด และกำยานพันปลายเสาก่อนแล้วจึงยกเสาเอก แล้วโปรยดอกไม้มงคล 7 ชนิด ดอกรัก ให้รักใคร่กัน ดอกดาวเรือง ให้เจริญรุ่งเรือง ดอกบัว ให้มีคนนับถือ ดอกกุหลาบ ให้สุขสด ชื่น ดอกบานไม่รู้โรย ให้มั่งมีอย่างไม่รู้โรย ดอกพุทธ ให้พระคุ้มครอง ดอกมะลิิ ให้อยู่เย็นเป็นสุข อธิษฐาน จะทำให้ร่ำรวย มั่งมี เป็นสุขตลอดไป

ปลูกเรือนปีมะเส็ง
ยกเสาเอก จงเอาใบสิงห์ 2 กิ่ง ผูกที่ปลายเสา และข้าว 3 กระทง ธูปเทียนจุดบูชา ทั้งบูชาดอกกุหลาบ พวงมาลัย มะลิสด ดอกรัก น้ำเย็น 6 ขัน แล้วพูดว่า มั่ง มี ศรี สุข ใช่ จึงยกเสาเอก จะทำให้รุ่งเรืองขึ้น

ปลูกเรือนปีมะเมีย
ยกเสาเอก จงเอาใบขี้เหล็ก กวาดตั้งแต่ปลายเสาลงมาถึงโคนเสา 3 ครั้งแล้วเอาน้ำรดปลายเสา ให้อด ใจรอจนถึงเวลาไก่ขัน และบวงสรวง กล้วย มะพร้าว ส้ม จงลงเสาเอก จึงจะร่มเย็นเป็นสุข

ปลูกเรือนปีมะแม
ยกเสาเอก จงเอาใบเงิน 3 ใบ หมากผู้ 3 ใบ หมากเมีย 3 ใบ แล้วเอาใบทั้งกล้วยอ้อยใส่ลงไปในหลุม ก่อน แล้วจึงยกเสาเอก แล้วบวงสรวง กล้วย อ้อย มะพร้าว ขอพรจะเสริมสิริมงคลให้มีโชคลาภตลอดไป

ปลูกเรือนปีวอก
ยกเสาเอก จงเอาเทียน 3 เล่ม แปะทองผูกข้างเสาด้านหัวนอนก่อน และนำใบเงิน ใบทอง ใบนาก ลงฐานหลุมแล้วจึงยกเสาเอก จะทำให้มั่งมี ศรีสุข ตลอดกาล

ปลูกเรือนปีระกา
ยกเสาเอก จงเอาข้าวตอกกับใบบัวบก มาใส่รองรับเอาไว้ในหลุมเสาเอก และเสารอง หรือใส่ให้ครบ 4 ทิศ จะเสริมมงคลให้อยู้ร่มเย็นเป้นสุข และบวงสรวงด้วย ข้าว แกง แอปเปิล ดอกบัวหลวง ขอพร จะทำให้มั่งมีศรีสุข

ปลูกเรือนปีจอ
ยกเสาเอก จงเอาข้าวตอกกับใบบัวบก มาใส่รองรับเอาไว้ในหลุมเสาเอก หรือใส่ให้ครบ 4 ทิศ และบูชา ด้วยดอกบัวเหลวง จะทำให้มีคนอุปถัมภ์ดีนักแล

ปลูกเรือนปีกุน
ยกเสาเอก จงเอาดอกชบา 1 ดอก และดอกบัวอีก 1 ดอก ใส่หลุมเสาเอก แล้วลงเสาเอก ฤกษ์ 9.09น. จะทำให้มีความเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป

หากคุณจะสร้างบ้านเรือน และยกเสาเอก ควรกระทำให้ถูกตามตำราดังนี้

ยกเสาเรือนเดือน ๔, ๕, ๖ ให้ยกเสาเอกทางทิศอาคเนย์ (ตะวันออกเฉียงใต้) จะเกิดโชคลาภ เป็นสิริมงคลแก่ผู้อยู่อาศัย
ยกเสาเรือนเดือน ๗, ๘, ๙ ให้ยกเสาเอกทางทิสหรดี (ตะวันตกเฉียงใต้) ผู้อยู่อาศัยในเรือน ปลอยภัยไร้โรคภัย มีโชคลาภดีนักแล
ยกเสาเรือนเดือน ๑๐, ๑๑, ๑๒ ให้ยกเสาเอกทางทิศพายัพ (ตะวันตกเฉียงเหนือ) จะเกิดสิริมงคล พ้นเคราะห์ภัย ไม่อับจน
ยกเสาเรือนเดือน ๑, ๒, ๓ ให้ยกเสาเอกทางทิศอีสาน (ตะวันออกเฉียงเหนือ) จะอยู่ดีกินดี เป็นมหาสิริมงคลแก่ผู้อยู่อาศัยเรือนนั้น

หมายเหตุ:
โบ ราณาจารย์ทั้งหลายท่านว่าไม่ควรปลูกเรือน สร้างบ้านที่อยู่อาศัย ในเดือน ๑, ๓, ๕, ๗, ๘, ๑๐, ๑๑ เดือนที่ควรปลูกเรือนคือเดือน ๒, ๔, ๖, ๙, ๑๒
หลังจากทำบุญทุกครั้ง ควรแผ่เมตตาหรือกรวดน้ำอุทิศส่วนบุญให้เจ้ากรรมนายเวรและสรรพสัตว์ด้วย

อ้างอิง และข้อเสนอแนะของผม : ต้องขออภัยมา ณ. ที่นี้ด้วยนะครับ เพราะผมไม่ได้บันทึกการอ้างอิงไว้ว่าผมเซพข้อมูลมาจากที่ไหน ดังนั้นเวลานำไปใช้งานให้ ตรวจสอบกับผู้รู้อีกทีนะครับว่าตรงกันไหม โดยผมไม่ได้แก้ไขข้อความด้านบนเลยครับ แต่ก็อย่างว่าครับพิธีการอย่างนี้มันมีหลายครู หลายอาจารย์ แล้วแต่ความเชื่อของแต่ละบุคคล

วันศุกร์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ตึกถล่มใน Shanghai







ตึกถล่มแบบ ล้มมาทั้งหลัง
เห็นรูปแล้วงงครับ ล้มเหมือนคนหงายหลังลงมา ไม่ได้พังเหมือนตึกถล่มแบบทั่วไป

ตอนนี้อยู่ในระหว่างการตรวจสอบสาเหตุครับ
จากข่าว BBC วันที่ 29 มิย.
เป็นอาคารแฟลต 13 ชั้น ที่ก่อสร้างใกล้เสร็จแล้ว

แต่ที่ผมสงสัยคือ ทำไมตึกมันล้มลงมาแล้วไม่พังละเอียด ผนังยังเห็นเป็นผนังอยู่เลย
เป็นการพังแบบค่อยๆเอียงรึเปล่าก็ไม่รู้

แต่ผมขอเดาเอาว่าเป็นการพังเนื่องมาจาก เสาเข็มหรือไม่ก็ฐานรากอาคาร เกิดวิบัติ
สังเกตุว่า ฐานรากและเสาเข็มบางส่วนถูกถอนขึ้นมาด้วย เหมือนเสาเข็มจะขาดที่ระดับใกล้เคียงกัน

อาจเกิดจากการทรุดตัวของเสาเข็มที่ไม่เท่ากันของสองฝั่งอาคาร หรือไม่ก็ ฐานรากฝังในดินน้อยไป

แต่ที่แน่ๆ ตึกข้างๆ ที่ไม่พังคงไม่มีคนกล้าอยู่แน่ๆ ขายไม่ออก คนที่ซื้อแล้วคงฟ้องคืนเงินกันอุดตลุด

วันพฤหัสบดีที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ความจำเป็นของการตอกเข็ม หรือเจาะเข็ม บริเวณพื้นโรงรถ

มีคนถามเข้ามาว่า
โรงรถ จำเป็นต้องมีเสาเข็มมั้ย?
บางบ้านที่จอดรถจึงต้องเจาะเสาเข็ม???
แล้วถ้าเราจะทำโรงรถจำเป็นต้องมีเสาเข็มรองรับมั้ย?
รวมถึงพื้นรอบบ้านด้วย

ผมขอตอบตามแบบของผมนะครับว่า
ก่อนอื่นต้องเข้าใจระบบพื้นคอนกรีต ว่ามี หลายระบบ แต่ที่ใช้กับ โรงรถหรือพื้นอาคารชั้นล่าง มีอยู่ 2 อย่างคือ

1 พื้นออนบีม
2 พื้นออนกราวน์

ดูบทความที่ผมเขียนเกี่ยวกับพื้นคงพอเข้าใจได้ไม่ยาก ได้ที่นี่ครับ

เล่าเรื่องพื้นๆ ตอนที่ 1 (พื้นออนบีม)
เล่าเรื่องพื้นๆ ตอนที่ 2 (พื้นออนกราวน์)

ถ้าโรงรถของเราเป็นพื้นออนบีมอยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องตอกเสาเข็มครับ เพราะมันได้ถ่ายน้ำหนักไปยังฐานรากอาคารอยู่แล้ว

แต่ ถ้าเป็นพื้นออนกราวน์ การตอกเข็มอาจมีความจำเป็นหรือไม่จำเป็นก็ได้ขึ้นอยู่กับการ ยอมรับของเราและทรุดตัวของอาคารครับ ที่ตอบแบบนี้เพราะ อาคารกับพื้นออนกราวน์ ที่โรงรถ หรือพื้นรอบบ้าน เป็นโครงสร้างคนละส่วนกัน แยกขาดจากกัน มันย่อมเกิดการทรุดตัวไม่เท่ากันอยู่แล้ว เช่นตัวบ้านไม่ทรุด แต่พื้นทรุด หรือ ตัวบ้านทรุด พื้นไม่ทรุด ดังนั้นรอยต่อของพื้นกับอาคารย่อมมีการทรุดตัวที่ต่างกันแน่นอน อาจเห็นมีรอยแยกหรือระดับการทรุดตัวที่ต่างกันและเรายอมรับการทรุดตัวที่ว่า ได้แค่ไหน ถ้าเรายอมรับตรงนี้ได้ก็ไม่จำเป็นต้องตอกเข็มที่โรงรถเพราะจะสิ้นเปลือง มากกว่าไม่ตอกเข็ม แต่ถ้าเรายอมรับการทรุดตัวนี้ไม่ได้ก็ควรตอกเข็มบนโรงรถสำหรบบ้องกันการทรุด ตัวของพื้นครับ

มีพื้นที่จอดรถหรือลานจอดรถเยอะแยะ ที่ตอกเข็มเจาะ ปูพรมทุกๆ 1 เมตร เพื่อป้องกันการทรุดตัวครับ
บางที่ก็ไม่ทำเลย บดอัด ดินอย่างเดียวก็มี เช่นถนนหลวง
ขึ้นอยู่กับ การยอมรับของเจ้าของงาน และน้ำหนักที่กระทำบนพื้นครับ ว่ามากน้อยอย่างไร

การตรวจสภาพ บ้านมือสอง ก่อนซื้อ

ก่อนการซื้อบ้านมือสอง หลายท่านคงดูแต่เรื่อง ทำเล, ราคา และสภาพความใหม่ของตัวบ้าน ว่าเหมาะสมกับราคา ที่ท่านจะต้องจ่ายหรือไม่ ถูกแพงอย่างไร แต่บทความนี้ ผมขอจะพูถึงเรื่องการตรวจสภาพโครงสร้างของบ้านมือสอง ว่า มีอะไรผิดปรกติหรือเปล่า และอาจให้ข้อแนะนำที่บางข้อที่หลายท่านอาจจะมองข้ามไป ก่อนการซื้อนะครับ

การตรวจสภาพโครงสร้าง ของอาคาร หรือบ้านมือสอง ก็มีความสำคัญมาก หลายๆท่านอาจมองข้ามไป เพราะมัวแต่ดูเรื่องทำเล, ราคา และสภาพเก่าใหม่ของบ้านเท่านั้น การมองข้ามเรื่องบางเรื่องไป อาจจะเสียใจไปจนตายก็ได้ เพราะการแก้ไขโครงสร้างบางอย่าง อาจทำไม่ได้ หรือทำแล้วไม่คุ้มค่า ดังนั้นผมขอให้ข้อเสนอแนะการดูสภาพบ้านไว้เป็นข้อๆละกันนะครับ

  1. ก่อนอื่นตรวจค้นหาร่องรอยการต่อเติม การตรวจค้นหาร่องรอยการต่อเติมสมควรทำอย่างยิ่ง เพื่อที่เราจะได้ทราบประวัติการต่อเติมต่างๆของบ้านว่า บ้านหลังนี้ทำอะไรมาบ้าง เช่น ต่อครัว ต่อห้อง เพิ่มชั้นลอย ฯ แล้วสังเกตุทำการต่อเติมได้ดีหรือไม่ดีอย่างไร วิธีที่ง่ายที่สุดในการหาร่องรอยการต่อเติมคือการถามเจ้าของเดิมครับ แต่ถ้าถามแล้วไม่ทราบ วิธีสังเกตุคือ ให้เดาลักษณะของบ้านเก่า ว่าควรมีหน้าตาอย่างไร (อาจดูจากข้างบ้านแล้วเทียบกัน) แล้วสังเกตุส่วนที่ไม่เหมือนกัน
  2. ตรวจรอยต่อระหว่างอาคาร ในบริเวณอาคารเก่ากับอาคารใหม่ โดยปรกติแล้วการต่อเติมอาคารที่ถูกต้องคือ ต้องทำการต่อเติมให้โครงสร้างอาคารเก่ากับอาคารใหม่แยกจากกันโดยสิ้นเชิงครับ ตัวอย่างเช่น การต่อเติมพื้นที่ห้องเพิ่มขยายไปยังพื้นที่ว่างด้านนอก ต้องต่อออกมาในลักษณะเป็นอีกอาคารนึงเลยแต่มาชิดกันเท่านั้น ไม่ได้เป็นการฝากโครงสร้างใหม่เข้ากับโครงสร้างเก่า (ดูรูป) เพราะการฝากโครงสร้างที่ทำใหม่ กับอาคารเดิมจะเกิดการทรุดตัวที่ไม่เท่ากัน มีผลทำให้อาคารวิบัติ(พัง) มาเยอะแล้ว ดังนั้นสิ่งที่ควรต้องสังเกตุคือ รอยต่อระหว่างอาคาร ในบริเวณอาคารเก่ากับอาคารใหม่ ต้องเป็นรอยต่อที่ไม่มีการแตกร้าวที่เกิดจากการดึงกัน ระหว่างโครงสร้าง 2 ส่วน เพราะเป็นสาเหตุของอาคารวิบัติคัรบ แต่รอยร้าวที่เกิดขึ้นจากอาคารสองส่วนที่ทรุดตัวไม่เท่ากันอาจยอมรับได้ถ้าการเป็นการต่อเติมเป็นการต่อเติมที่ถูกต้อง(ดูรูป)
  3. ตรวจรอยร้าว จริงๆแล้วรอยร้าว ไม่มีเลยจะดีที่สุดครับ แต่ถ้าเลี่ยงไม่ได้ ก็ควรรู้ว่ารอยร้าวของอาคารมีหลายประเภท หลายสาเหตุครับ แต่อยากให้สังเกตุไว้ว่ารอยร้าวแบบที่พอจะรับได้คือรอยร้าววที่มาจากการเสื่อมของวัสดุบนกำแพง เพราะมันพอจะแก้ไขได้ไม่ยากครับ วิธีสังเกตุคือ รอยร้าวประเภทนี้จะเป็นรอยร้าวแบบแตกระแหง มั่วไปมั่วมา ไม่เป็นแนวยาวเป็นทางเดียวต่อเนื่องกันครับ ส่วนรอยร้าวที่โครงสร้างหลักเช่น เสา คาน พื้น หรือ รอยร้าวบนผนังที่เป็นแนวยาวผิดสั้งเกตุ มันเป็นการบ่งบอกว่าอาคารมีปัญหา ควรหลีกเลี่ยงไว้ก่อน เพราะอาจเป็นการทรุดตัว หรือการรับน้ำหนักมากเกินไป หรือไม่ก็เป็นลางที่บอกว่า อาคารใกล้จะพัง
  4. สังเกตุระดับอาคาร เทียบกับถนน ให้ดูว่าบ้านนี้ระดับพื้นชั้นล่างต่ำเกินไปไหมในอนาคต เพราะถนนจะต้องถมให้สูงขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเราไม่สงเกตุตรงนี้อนาคตถนนมาการยกพื้นก็เป็นเรื่องที่ทำกันไม่ได้ง่ายๆ
  5. สังเกตุร่องรอยการยกพื้นหรือการถมดิน ข้อควรจำคือเมื่อยกพื้นขึ้นโดยการเทคอนกรีต หนา 10 เซนต์ จะเพิ่มน้ำหนักให้อาคารถึง 240 กก.ต่อตารางเมตร ถ้ามากกว่านี้ก็เพิ่มไปอีก แต่บ้านพักอาศัยเดิมๆ วิศวกรออกแบบสำหรับการรับน้ำหนักไว้ประมาณ 200 กก. ต่อตารางเมตรเท่านั้น ถ้าเพิ่มน้ำหนักให้บ้านไปมากๆ ก็คิดดูเอาเองครับ ดังนั้น การถมดิน การยกพื้นของบ้านควรพิจารณาดีๆ อีกอย่างที่ควรสังเกตุ คือบ้านมือสองในบริเวณพื้นที่ๆมีน้ำท่วม เขายกพื้นกันทุกบ้านแหละครับ
  6. สังเกตุการใช้งานผิดประเภทของอาคาร เช่นใช้บ้าน มาทำเป็นที่เก็บของ ดัดแปลงเพิ่มห้องน้ำบนดาดฟ้าเดิม หรือต่อระเบียงออกมาเป็นห้องนอน เรื่งพวกนี้ล้วนแต่เป็นการเพิ่มน้ำหนักให้อาคารโดยไม่ตั้งใจทั้งนั้น
  7. ขอแบบแปลนเดิม(ถ้าเป็นไปได้).
  8. ดูเรื่องเทศบัญญัติ และกฏหมาย การซื้อบ้านหรืออาคารที่ต่อเติม หรือการสร้างแบบผิดกฎหมาย ยังไงมันก็เป็นเหมือนซื้อของผิดกฏหมาย เป็นชงักติดหลังไปเรื่อยๆ ครับ ไม่มีทางแก้ได้จนกว่า จะรื้อถอนและสร้างให้ถูกกฏมาย แต่ที่ผมเห็นโดยส่วนใหญ่เกือบทุกหลังก็ทำกัน ที่ไม่เป็นอะไร ไม่มีปัญหา เพราะการใช้กฏหมายประเทศไทยไม่แข็งแรงครับ เชื่อหรือไม่ว่าอาคารบางหลัง หรือบ้านบางบ้าน ถูกหมายจากเจ้าหน้าที่ให้รื้อถอนเนื่องจากการก่อสร้างหรือการต่อเติมที่ไม่ถูกต้อง มาเป็น 10 ปีก็ยังไม่แก้ ต้องเสียค่าปรับ แต่ไม่จ่าย ดังนั้นค่าปรับก็เดินไปเรื่อยๆ บางที่ค้างตรงนี้เป็นล้าน ก็มี แต่ก็อยู่อย่างปรกติเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น เฮ๊อ...เหนื่อยประเทศไทย